วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

ดัชนี'ทาสยุคใหม่'ทั่วโลกพุ่ง20% ไทย4.7แสนคน

ดัชนี'ทาสยุคใหม่'ทั่วโลกพุ่ง20% ไทย4.7แสนคน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

(รายงาน) ดัชนี"ทาสยุคใหม่"ทั่วโลกพุ่ง20% ไทย 4.7แสนคน-อันดับ 6 เอเชีย
      เมื่อพูดถึง "ทาส" ในประเทศไทย หลายคนคงทราบดีว่า ได้มีการประกาศเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งนับถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 109 ปี ขณะที่ในระดับสากลได้มีการประกาศเลิกทาสมาแล้วร่วมๆ 200 ปี
แต่ทุกวันนี้หากถามใครต่อใครว่ายังมีคนเป็นทาสหลงเหลืออยู่หรือไม่ เชื่อว่าหลายคนคงตอบว่า มี แต่ก็คงไม่มาก ส่วนรูปแบบจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและสภาพของแต่ละสังคมมากน้อยเพียงใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับขอบเขตหรือนิยามที่ใครจะกำหนดขึ้น
        มูลนิธิ วอร์ค ฟรี ฟาวเดชั่น (Walk Free Foundation) องค์กรด้านสิทธิมนุษย์สากล นิยาม "ทาสสมัยใหม่" คือ การค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ การสมรสโดยบังคับหรือเพื่อรับใช้ หรือการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ละเมื่อเร็วๆ นี้ทางมูลนิธิดังกล่าวได้เผยแพร่รายงาน ดัชนีการค้าทาสสากล (จีเอสไอ) ประจำปี 2557 โดยสำรวจจาก 167 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า ทุกวันนี้ทั่วโลกมีประชากรชาย หญิง และเด็ก 35.8 ล้านคนยังถูกกดขี่เยี่ยงทาสอยู่ หากเปรียบเทียบกับการประเมินก่อนหน้านี้พบว่า ทาสยุคใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
โดยในจำนวนนี้ 2 ใน 3 หรือประมาณ 23.5 ล้านคน อยู่ในทวีปเอเชีย มีประเทศอินเดีย และปากีสถานที่อัตราผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสอยู่ในอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับหากมองเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประเทศกัมพูชา เป็นประเทศที่มีอัตราผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสสูงสุด ตามมาด้วย มองโกเลีย (0.907%) ประเทศไทย (0.709%) และบรูไน (0.709%)
ขณะที่ ประเทศจีนและญี่ปุ่น อยู่ในอันดับที่ 19 และ 20 ของทวีปเอเชีย ส่วนประเทศหรือเขตปกครองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มีอัตราของการเป็นทาสต่ำสุดในทวีปเอเชีย คือ ฮ่องกง (0.187%) สิงคโปร์ (0.1%) และไต้หวัน (0.013%) โดยอยู่ในอันดับ 23 อันดับ 24 และอันดับ 25 ตามลำดับ และมีเพียงสองประเทศในทวีปเอเชียเท่านั้นที่มีสถิติที่ดีกว่าประเทศเหล่านี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยอยู่ที่อันดับ 26 และ 27 ตามลำดับ
         หากมองในแง่จำนวนสัมบูรณ์ ประเทศจีนมีจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในสภาพเยี่ยงทาสสมัยใหม่มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 3,241,400 คน รองลงมาคือ ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 714,100 คน ประเทศไทย จำนวน 475,300 คน และประเทศเวียดนาม จำนวน 322,200 คน
ภาพรวมของทวีปเอเชียทั้งทวีป บุคคลหรือบางครั้งครอบครัวทั้งครอบครัวถูกกดขี่เยี่ยงทาส เนื่องจากการขัดหนี้ และแรงงานตามพันธสัญญาในภาคก่อสร้าง เกษตรกรรม การทำอิฐ โรงงานเสื้อผ้า และการผลิต ซึ่งถือเป็นแรงงานฝีมือต่ำในขั้นตอนการผลิตของระบบห่วงโซ่อุปทานในการผลิตทั่วโลก คนเหล่านี้จำนวนมากยังมีความเสี่ยงสูงต่อการกลายเป็นแรงงานบังคับเนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง
รายงานชิ้นนี้ ระบุด้วยว่า บางประเทศที่ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากนี้ได้เริ่มลงมือดำเนินขั้นตอนที่สำคัญเพื่อจัดการกับปัญหานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับค่าประเมินการตอบโต้ของรัฐบาลต่อปัญหานี้ในอัตราที่เท่าเทียมกับค่าประเมินของประเทศนิวซีแลนด์และไต้หวัน จากทั้งหมด 25 ประเทศที่มีการจัดอันดับในทวีปเอเชีย 24 ประเทศได้ออกกฎหมายที่ระบุว่าบางรูปแบบของการเป็นทาสสมัยใหม่ถือเป็นความผิดทางอาญา
ด้านประเทศอินเดียได้มีการปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจังเพื่อสนับสนุนการจัดให้การเป็นทาสสมัยใหม่ถือเป็นความผิดทางอาญา ส่วนมองโกเลียและเวียดนามลงมติรับรองกฎหมายที่สมบูรณ์ในตัวเองว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ในปี 2555 แต่ประเทศเกาหลีเหนือเป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชียและในโลกที่ไม่ได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่าการเป็นทาสสมัยใหม่ถือเป็นความผิดทางอาญา
          นายแอนดรู ฟอร์เรส (Andrew Forrest) ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ บอกว่า มีการตั้งสมมติฐานกันว่า การเป็นทาสนั้นเป็นปัญหาในยุคก่อน หรือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศที่ต้องเผชิญกับภัยสงครามหรือความยากจนเท่านั้น แต่ผลการสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า การเป็นทาสสมัยใหม่เกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ
"การเป็นทาสสมัยใหม่มีอยู่จริงและก่อให้เกิดความลำเค็ญอย่างรุนแรงต่อเพื่อนร่วมโลกของเรา ก้าวแรกในการขจัดการเป็นทาสให้หมดสิ้นไปคือการวัดอัตราการเป็นทาส และเมื่อเรามีข้อมูลที่สำคัญนี้แล้ว เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ธุรกิจ หรือภาคประชาสังคมจะต้องร่วมมือกันยุติรูปแบบการแสวงประโยชน์ที่ร้ายแรงที่สุดนี้ให้หมดสิ้นไป"
ด้าน นายโม อิบราฮิม (Mo Ibrahim) ผู้ก่อตั้งดัชนีโม อิบราฮิม (Mo Ibrahim Index) และมูลนิธิ โม อิบราฮิม ฟาวเดชั่น (Mo Ibrahim Foundation) เสริมว่า การเป็นทาสสมัยใหม่ถือเป็นอาชญากรรมด้านมืดและขึ้นชื่อว่าคำนวณเป็นตัวเลขได้ยาก แต่มูลนิธิ วอร์ค ฟรี ฟาวเดชั่น กำลังชูประเด็นอาชญากรรมที่เลวร้ายนี้เป็นที่ประจักษ์ด้วยวิธีค้นคว้าวิจัย และวิธีการสำรวจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นทุกปี
        สิ่งที่ได้เห็นในดัชนีการค้าทาสสากลประจำปี 2557 ฉบับนี้อีกประการ คือ การรวมการดำเนินการของรัฐที่เกี่ยวกับการเป็นทาสสมัยใหม่เข้ามาในการสำรวจ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ดัชนีจีเอสไอเสนอบทวิเคราะห์เรื่องการตอบโต้ของรัฐบนพื้นฐานของเป้าหมาย 5 ประการ ได้แก่
       1.การระบุตัวตนและการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่รอดชีวิต 2.กลไกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เหมาะสม 3.การให้ความร่วมมือและสำนึกรับผิดชอบภายในรัฐบาลกลาง 4.ระบุแจ้งการกระทำ ระบบสังคม และสถาบันใดๆ ที่ส่งเสริมการเป็นทาสสมัยใหม่ และ 5.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและภาคธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายที่ทุกประเทศควรมุ่งบรรลุให้สัมฤทธิผลเพื่อขจัดการเป็นทาสสมัยใหม่ให้หมดสิ้นไป